ตำนานแห่ง พญาเต่าเรือน
พญาเต่าเรือน ในความเชื่อของไทย
พญาเต่าเรือน ในความเชื่อของไทย มีพุทธคุณที่ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ สามารถใช้บูชา ป้องกันได้ทุกสิ่ง ทำมาค้าขายเจริญก้าวหน้า มีโชคมีลาภ เงินทองหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย และเป็นมงคลแก่ผู้บูชา
เชื่อกันว่า พญาเต่าเลือน คือ พระโพธิสัตว์ผู้ช่วยมนุษย์ให้รอดจากอันตราย ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระทศพลเสวยพระชาติเป็นพญาเต่า มีร่างกายอันใหญ่โตกินแต่ใบไม้ และพลาหารต่าง ๆ บนยอดเขาบนเกาะร้างกลางทะเลและร่างกายของพระองค์ใหญ่เท่ากับเรือนหลังใหญ่ ๆ เรียกกันว่า เต่าเรือน
ท่านเสวยสุขอยู่จนกระทั่งวันหนึ่ง มีสำเภาของพ่อค้ามาอับปางลงที่หน้าเกาะ ส่วนลูกเรือ และพ่อค้ารอดชีวิตจากความตายในทะเลได้ แต่ก็ต้องมาผจญกับความ อดยาก เพราะบนเกาะไม่มีอาหารการกินแม้แต่สัตว์ใด ๆ ก็ไม่มี ยกเว้นพญาเต่าเรือน จึงได้แต่นอนรอคอยความตาย บ้างก็ร่ำ ๆ จะเข้ากินกันเป็นอาหาร
ดังนั้น พระโพธิสัตว์ เห็นพ่อค้า และลูกเรือทั้งหลาย จะพากันมาอดตายกันหมดก็เกิดความสลดใจ และเห็นว่าตัวเราก็มีเนื้อมาก อีกทั้งอายุก็มากแล้ว หากต้องตายไปตามอายุร่างกายก็จะเน่าเปื่อยหาประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งชีวิตนั้นก็เกิดแก่เจ็บตายก็เลยอธิษฐานเอาร่างกายตนเป็นทาน
จึงคลานมาที่หน้าผาแล้วทิ้งตัวลงไป ทำให้กระดองกระแทกกับแง่หินแตกกระจาย เนื้อก็ไหลออกมากองอยู่ที่พื้นเบื้องล่าง และทำให้พ่อค้ากับลูกเรือทั้งหลายได้อาศัยเนื้อเต่ากินเป็นอาหาร จึงรอดตาย จนกระทั่งมีเรือผ่านมารับไป และจากการกระทำของ พระโพธิสัตว์ ในการอุทิศร่างโดยการเลื่อนลงมาจากหน้าผานั้นเลยเรียกกันว่า “พญาเต่าเลื่อน”
คำว่า “เต่าเรือน” จึงเป็นนามของ พระโพธิสัตว์ ที่มีรูปร่างใหญ่
ดังนั้น ครูบาอาจารย์ในสมัยโบราณ จึงได้สร้างวัตถุมงคลเป็นรูปพญาเต่าเรือน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ทำมาค้าขายดี เพราะถือว่าพญาเต่าเรือนอยู่ในชาติหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์เคยเสวยชาติเป็นพญาเต่าเรือน ได้สละเลือดเนื้อชีวิตเพื่อเป็นทานแก่สัตว์ผู้ยากไร้ เกจิอาจารย์ต่าง ๆ ในอดีตจึงมีการสักยันต์ตามตัว และทำเครื่องรางเพื่อไว้ใช้ ด้วยเหตุที่ว่าสารพัดใช้ ตามอธิษฐาน วิเศษนักเป็นได้ทุกอย่าง เช่น ทำให้มีโชคลาภ เงินทองหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย ค้าขายจะเจริญก้าวหน้า และเป็นมงคลแก่ผู้บูชายิ่งนัก
การทำเครื่องรางพญาเต่าเรือนในสมัยโบราณนั้น มักนิยมใช้กระดองเต่าตายซาก หรือตายเองซึ่งถือเป็นหลัก โดยห้ามฆ่าจากนั้นก็จะนำกระดองเต่ามาลงอักขระหัวใจพญาเต่าเรือน ที่ว่า “นา สัง สิ โม” และอักขระ พระเจ้าห้าพระองค์ ที่ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” จากนั้นนำไปปลุกเสก
ทั้งนี้ มีคติความเชื่อว่า เครื่องรางพญาเต่าเรือนเป็นของดีที่หายาก และมีความสำคัญประจำบ้านเรือน และป้องกันภัยพิบัติอันตรายทุกประการจากโจรภัย วาตภัย อัคคีภัย ฯลฯ เรียกว่า หากใครมีไว้บูชาถือว่าเป็นแก้วสารพัดนึกเลยก็ว่าได้ แต่ปัจจุบันกระดองเต่าที่ตายซาก หรือตายเองหาได้ยาก เกจิอาจารย์จึงใช้วิธีเขียนอักขระบนแผ่นโลหะ หรือผ้ายันต์เป็นรูป “พญาเต่าเรือน” แล้วนำมาปลุกเสก
สำหรับการตั้งบูชาพญาเต่าเรือนนั้น ท่านว่าให้ตั้งไว้สูงกว่าเทพยดาทั่ว ๆ ไป เพราะพญาเต่าเรือนเป็นพระโพธิสัตว์ และเป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า แต่ต้องต่ำกว่าพระพุทธรูป การบูชานั้นหลาย ๆ ที่มักนำน้ำมาหล่อเอาไว้ พร้อมทั้งมีผักบุ้งลอยเอาไว้ หรือดอกมะลิ กลีบกุหลาบลอยไว้ด้วย คอยเติมน้ำให้เต็มเสมอ ๆ เพราะเชื่อกันว่า หากน้ำลดจะทำให้โชคลาภหดเหือดหายตามไปด้วย และต้องทำน้ำให้สะอาดเสมอ จะได้มีความสดใส และชุ่มเย็นในชีวิต ถ้าเป็นพญาเต่าเรือนขนาดเล็ก บางคนถือเคล็ดเอาไว้ในที่เก็บเงิน หรือตั้งไว้ที่ตู้เซฟ ส่วนคาถาบูชานั้นท่านว่ามีหลายคาถาด้วยกัน แต่ที่นิยมใช้คือ หัวใจพญาเต่าเรือน ท่องว่า “นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ” เป็นพระคาถาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และจากพระคาถานี้ ครูบาอาจารย์นำมาเขียนลงในช่องตารางที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่า เติมหัวเติมหางลงไป จนเป็นภาพเต่าขึ้นมา ถือกันว่าเป็นพระยันต์ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ติดไว้กับบ้านก็ทำให้ร่มเย็นเป็นสุข ติดไว้กับร้านค้าก็ค้าขายดีมีกำไร หากติดตัวเอาไว้เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม นอกจากนี้ยังมีการทำรูปยันต์เป็นพญาเต่าเรือนน้อยเต่าเรือนใหญ่ ที่มีอานุภาพในการระงับคดีความ ซึ่งครูบาอาจารย์เล่าว่าหากเกิดคดีความอันเป็นการใส่ร้ายป้ายสี ให้ทำการท่องพระคาถาพญาเต่าเรือน และบูชาพญาเต่าเรือน โทษทัณฑ์ที่มีอยู่ คดีความที่กำลังเป็นปัญหา ก็จะสูญสิ้นไปเป็นอัศจรรย์