ประเพณี ทอดกฐิน
ประเพณีทอดกฐิน
ของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวง และพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์ จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี
คำว่า กฐิน แปลว่า
ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐิน หรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว) ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้
การทอดกฐิน คือ
การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น
การได้มาของผ้าไตรจีวร
อันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้าม การรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และการถวายผ้ากฐินนั้นจัดเป็นสังฆทาน คือ ถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และมีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่งๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี มีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือ ระยะเวลาทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน ซึ่งเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนด จึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษในการทอดกฐิน ทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
การทอดกฐินหรือการกรานกฐิน
จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ สร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้น กฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ
อปโลกน์กฐิน หมายถึง
การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้ว จึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่าอะ-ปะ-โหลก) เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้ว จึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์จึงนับเป็นสังฆกรรม
พิธีกรานกฐิน
กรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ คือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้นนำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งเย็บ ย้อมแห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้วภิกษุรูปหนึ่งขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนากล่าวถึงเรื่องประวัติกฐิน
อานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน
- ทำให้เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สินมาก และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
- ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์และผ่องใสอยู่เสมอ
- ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
- ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
- ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป
- ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ
ทั้งนี้ยังเป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่ จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส ให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่ง และเป็นการสืบต่อประเพณีกฐินทาน มิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย